เอื้องผึ้ง

เอื้องผึ้ง

วันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2551

พรรณไม้หอมนครพนม



ต้นกันเกรา

ชื่อวิทยาศาสตร์ Fagraea fragrans Roxb.
ชื่ออื่น ๆ มันปลา ตำเสา มะซู
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร
เปลือก สีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบ

ใบ เดี่ยวออกตรงกันข้าม แผ่นใบรูปมนขนาดกว้าง 2.5 - 3.5 เซนติเมตร ยาว 8 - 11 เซนติเมตร ปลายใบแหลมหรือยาวเรียว ฐานใบแหลม โคนมน

ดอก เริ่มบานสีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีเหลือง กลิ่นหอม ผลกลมเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 มม. สีส้มแล้วเปลี่ยนไปเป็นสีแดงเลือดนกเมื่อแก่เต็มที่

เมล็ด ขนาดเล็กมีจำนวนมาก
นิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอก เมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด การเพาะปฏิบัติได้ 2 วิธี วิธีที่ 1 ก่อนเพาะ นำเมล็ดแช่ในน้ำร้อน 80 - 90 องศาเซลเซียส แล้วผึ่งให้เย็น 16 ชั่วโมง นำไปแช่น้ำเย็น ทิ้งไว้ข้ามคืน เมล็ดจะดูดน้ำเข้าไปพร้อมที่จะงอก นำเมล็ดไปหว่านลงในแปลงเพาะ แล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง การหว่านเมล็ดควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3 - 5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1 - 2 สัปดาห์
ประโยชน์ เนื้อไม้สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ